รู้เท่าทันอาการประจำเดือนมาน้อย ปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงเจอบ่อยๆ

ปัญหาประจำเดือนมาน้อย (Low Menstruation) เกิดจากประจำเดือนที่มาไม่ปกติ มากระปริบกระปรอย บางครั้งอาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนภายในร่างกาย หรือโรคที่เป็นต้นเหตุทำให้ประจำเดือนขับออกมาได้น้อย โดยส่วนใหญ่แล้วอาการประจำเดือนมาน้อยจะพบในผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยทองหรือวัยรุ่น ซึ่งอาการดังกล่าวในบางครั้งอาจจะไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายเสมอไป อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เราก็จะพาทุกท่านไปรู้จักกับอาการประจำเดือนมาน้อยว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง ไปติดตามพร้อมๆ กันเลย

ลักษณะอาการประจําเดือนมาน้อยเป็นอย่างไร

โดยปกติแล้ว การมาของประจำเดือนจะมีช่วงเวลาที่ห่างกันของแต่ละเดือนอยู่ที่ 21-35 วัน โดยในแต่ละเดือนประจำเดือนจะมา 2-7 วัน ซึ่งนั่นก็แล้วแต่ภาวะหรือฮอร์โมนของร่างกายแต่ละคน และปริมาณเลือดที่ออกมาแต่ละครั้งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของคนๆ นั้นด้วย บางเดือนมาน้อย บางเดือนมามากหรือมาไม่เท่ากันในแต่ละเดือน โดยลักษณะของประจำเดือนที่มาน้อยจะมีดังต่อไปนี้

  • ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน
  • ประจำเดือนที่ออกมาในแต่ละเดือนมีน้อยมาก หรือพบจุดเลือดเพียงเล็กน้อย
  • ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย เป็นๆ หายๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งในแต่ละรอบเดือน
  • มีภาวะของประจำเดือนขาด

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อย

หากท่านใดที่กำลังประสบกับปัญหาภาวะประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ หรือมากระปริบกระปรอย หรือประจําเดือนไม่มาเลย ก็อาจจะมีผลมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1.ภาวะของการตกไข่

ในขั้นตอนของการตกไข่ บางครั้งอาจจะทำให้มีเลือดออกมาจากช่องคลอดได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนที่ออกมาน้อยกว่าปกติ

2.ภาวะของการตั้งครรภ์

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์จะมีเลือดออกมาทางช่องคลอดแบบกระปริบกระปรอยที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเป็นการเคลื่อนตัวของตัวอ่อนที่จะไปฝังอยู่บนผนังมดลูก จึงทำให้มีเลือดออกมาทางช่องคลอดปริมาณน้อย ในบางครั้งอาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นเลือดของประจำเดือนที่มาน้อย

3.ช่วงของการให้นมบุตร

หญิงหลังคลอดที่มีการให้นมบุตร จะทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงถูกยับยั้งเพื่อไม่ให้เกิดการตกไข่ซ้ำอีกรอบ ดังนั้น จึงทำให้ประจำเดือนมาในปริมาณที่น้อย หรือไม่มาเลย และถ้าหากร่างกายสามารถปรับตัวได้ หรือหยุดให้นมบุตรแล้ว ภาวะของประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติดังเดิม

4.การคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดอาจส่งผลให้เกิดประจำเดือนมาน้อยหรือทำให้ประจำเดือนขาดได้ ซึ่งสาวๆ ที่คุมกำเนิดด้วยการกินยา ฉีดยาคุมหรือใส่ห่วงคุมกําเนิด จะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติในช่วงแรกของการคุมกำเนิด แต่ถ้าหากยุติการคุมกำเนิดแล้ว เพียงเวลาไม่นานประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม

5.ช่วงวัย

เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ผู้หญิงบางคนอาจจะมีการเจริญเติบโตของร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ฮอร์โมนภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่เต็มที่ ทำให้ประจำเดือนมาน้อยหรือประจำเดือนขาดได้ และเมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง ซึ่งเป็นวัยที่กำลังจะหมดประจําเดือน ระดับของฮอร์โมนภายในร่างกายก็จะเริ่มลดต่ำลง มีการทำงานที่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดไป

6.ความเครียด

หากเกิดความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำงานได้ไม่เป็นปกติ ทำให้ประจำเดือนมาน้อยได้เช่นเดียวกัน

7.มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

เมื่อน้ำหนักตัวมากจะทำให้ไขมันในร่างกายมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระบวนการทำงานของร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดประจำเดือนมาปริมาณน้อยได้ในแต่ละรอบเดือน

8.โรคไทรอยด์

โรคไทรอยด์เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายบกพร่อง จึงทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จนฮอร์โมนในร่างกายต่ำลง กระทั่งส่งผลทำให้เกิดภาวะของประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติได้

9.โรคหรือภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์

โรคหรือภาวะที่ทำให้ระบบสืบพันธุ์หรือระบบฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงไป หรือทำงานได้ไม่เป็นปกติ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะของการติดเชื้อภายในอุ้งเชิงกราน เนื้องอกในมดลูก และโรคมะเร็ง เป็นต้น

วิธีรักษาและป้องกันอาการประจำเดือนมาน้อย

ถึงแม้ว่าอาการประจำเดือนมาน้อยจะเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่ถ้าหากสาวๆ ท่านใดมีภาวะของระบบสืบพันธุ์ที่ผิดปกติ ก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งวิธีรักษาและป้องกันอาการประจำเดือนมาน้อยก็มีดังต่อไปนี้

1.เข้ารับการตรวจแป๊บสเมียหรือตรวจภายในเป็นประจำทุกปี

2.รับประทานยาปรับฮอร์โมน หากสาเหตุเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน

3.ในรายที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ออกกำลังกายหักโหมเกินไป

5.คอยสังเกตรอบเดือนของตัวเองอยู่เสมอ โดยบางครั้งประจำเดือนจะมามาก หรือบางครั้งอาจจะมาน้อย ซึ่งจะช่วยป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

6.หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะการที่เครียดมากจนเกินไปจะทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนส่งผลทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาน้อยกว่าปกติได้ ดังนั้น หากรู้ว่าตนเองเครียดบ่อยๆ แนะนำให้หากิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทำดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าอาการประจำเดือนมาน้อยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แต่ละสาเหตุก็ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องวิตกจนเกินไปนัก และเพื่อให้คุณสามารถรู้เท่าทันโรคภายในของผู้หญิงที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบภายในหรือระบบสืบพันธุ์ ก็สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือตรวจภายในเป็นประจำทุกปีก็ได้ เพื่อให้คุณได้รู้เท่าทันโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง

By beauty