รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพยาธิไส้เดือน อาการ สาเหตุ วิธีรักษา และการป้องกันที่ดีที่สุด

หลายคนอาจจะทราบกันอยู่แล้วว่าการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนโดยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง และบางกรณีก็ไม่มีอาการใดแสดงให้เห็นด้วย แต่ก็ใช่ว่าการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนจะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงใดๆ เลย เพราะบางรายมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนนำไปสู่การก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจกับการติดเชื้อนี้ให้ดี โดยเฉพาะวิธีการป้องกันและการรักษา Rattinan Hospital จะช่วยให้ทุกคนสามารถดูแลตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจากการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนได้มากที่สุดนั่นเอง

พยาธิไส้เดือนคืออะไร

พยาธิไส้เดือน หรือ Ascariasis คือ พยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่เข้าสู่ร่างกายจากการปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่ม นำไปสู่การติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหาร ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรง หรืออาจจะไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็น แต่ก็มีบางกรณีที่เมื่อติดเชื้อรุนแรงแล้ว นำไปสู่การก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

อาการของการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

ในส่วนของอาการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน ผู้ติดเชื้อมักจะไม่มีอาการใดๆ บ่งบอกถึงการติดเชื้อเลย เว้นแต่ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง จะเริ่มแสดงอาการออกมา และการแสดงอาการจะมีความแตกต่างไปในแต่ละราย โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ร่างกายได้รับผลกระทบ เช่น

1.เกิดการติดเชื้อภายในปอด

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อภายในปอด จะมีความคล้ายกับอาการของโรคหืดหรือโรคปอดบวม เช่น ไอเรื้อรัง เป็นไข้ หายใจถี่ หายใจเสียงดังหวีด มีความรู้สึกอึดอัดที่บริเวณหน้าอก และมีเลือดปนในน้ำมูกหรือเสมหะ

2.เกิดการติดเชื้อบริเวณลำไส้

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อบริเวณลำไส้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย ไม่สบายท้อง ปวดท้อง น้ำหนักลดลง มีภาวะทุพโภชนาการ และมีพยาธิในอาเจียนหรืออุจจาระ

สาเหตุของการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนไข่ของพยาธิไส้เดือน ซึ่งไข่ของพยาธิไส้เดือนจะพบได้ในดินที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ติดเชื้อ พบได้ในผักผลไม้ที่ปลูกในดินที่ปนเปื้อนและล้างไม่สะอาด รวมทั้งในอาหารที่ปรุงไม่สุกและอาจมีไข่ของพยาธิไส้เดือนจากดินติดอยู่ เมื่อไข่ของพยาธิไส้เดือนเข้าสู่ร่างกาย ก็จะฟักตัวกลายเป็นตัวอ่อนที่บริเวณลำไส้ และจะเคลื่อนตัวไปตามกระแสเลือดไปสู่ปอด เมื่อตัวอ่อนกลายเป็นตัวโตเต็มวัย ก็จะเคลื่อนตัวออกจากปอดไปยังบริเวณลำคอ ในจุดนี้อาจทำให้ผู้ป่วยไอเอาพยาธิออกมา หรืออาจกลืนลงไปในลำไส้อีกครั้ง โดยในกรณีหลังนั้น พยาธิที่ผู้ป่วยกลืนเข้าไปจะผสมพันธุ์กัน และทำการวางไข่มากขึ้น จากนั้นก็เป็นไปตามวงจรเดิม นั่นก็คือเริ่มจากการที่ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนและเคลื่อนไปสู่ปอด แต่ทั้งนี้หากไข่พยาธิไส้เดือนถูกขับออกมากับอุจจาระ ก็จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นต่อไปได้

วิธีรักษาการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

โดยทั่วไปแล้วการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการ แพทย์จะทำการสั่งจ่ายยาถ่ายพยาธิเป็นอันดับแรก ซึ่งยาตัวนี้จะมีฤทธิ์ช่วยฆ่าพยาธิตัวที่โตเต็มวัย โดยจะใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน ส่วนยาที่นิยมใช้ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนก็คือ ยาอัลเบนดาโซล ยาไอเวอร์เมคติน และยามีเบนดาโซล ทั้งนี้ยาจำพวกนี้อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น ปวดท้องหรือท้องเสีย ส่วนในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงจนมีภาวะแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นลำไส้อุดตัน ลำไส้ทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ หรือท่อน้ำดีอุดตัน แพทย์อาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำพยาธิใส้เดือนออกมา และทำการซ่อมแซมหรือรักษาบริเวณที่เสียหาย และหลังจากเข้ารับการรักษาการติดเชื้อพยาธิไส้เดือนแล้ว ผู้ป่วยยังต้องได้รับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาต่อไป โดยแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อหาไข่ของพยาธิ ซึ่งหากยังคงมีไข่อยู่ก็อาจจะต้องรับการรักษาอีกครั้ง

วิธีป้องกันการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน

การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการหมั่นรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำ การล้างผักผลไม้ก่อนกินให้สะอาดเสมอ หรือการหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เป็นต้น โดยวิธีป้องกันที่ดีที่สุดนั้นจะเน้นที่การพยายามรักษาความสะอาดทั้งในส่วนของร่างกายและอาหารที่จะนำมาบริโภคนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อพยาธิไส้เดือน ไม่ใช่สิ่งที่จะมองข้ามหรือละเลยการป้องกันหรือการรักษาไปได้เลย แม้ว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการรุนแรง แต่ตราบใดที่อาการเกิดรุนแรงขึ้นมา ก็ย่อมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตที่ช้าลง ลำไส้อุดตัน ลำไส้ทะลุ หรือท่อน้ำดีอุดตันก็ตาม

By beauty